รู้จัก "บอดี้สแกน" (Body Scan) มาตั้งแต่ปี 2543 ในช่วงที่เตรียมทำโครงการหัวใจใหม่ชีวิตใหม่ ก่อนจะเขียนเป็นหนังสือ โดยศึกษาจากหนังสือ Full Catastrophe Living ที่เขียนโดย ดร.จอน คาบัต-ซินน์ ซึ่งเป็นหัวหน้าหน่วยลดความเครียดของศูนย์การแพทย์แมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา
ดร.จอน คาบัต - ซินน์ ใช้หลักการที่เรียกว่า "Mindfulness-Based Stress Reduction" เขียนย่อเป็น MBSR คือการใช้ "การรับรู้กับปัจจุบันขณะมาช่วยลดความเครียด" ซึ่งคำว่า "Mindfulness" หรือ "การรับรู้กับปัจจุบันขณะ" นี้ คือหลักการพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของพุทธศาสนา ซึ่งท่านติช นัท ฮันห์ พระชาวเวียดนามพูดถึงอยู่เสมอ
ช่วงปี 2544 ผู้เขียนและทีมงานได้นำบอดี้สแกนเข้ามาใช้ในโครงการหัวใจใหม่ชีวิตใหม่ และในเวิร์กช็อปต่อๆ มา จนกระทั่งทุกวันนี้ เรายังคงเริ่มเวิร์กช็อปในภาคบ่ายหลังอาหารกลางวัน ด้วยบอดี้สแกน เป็นเวลาประมาณ 45 นาที ด้วยการให้ผู้เข้าร่วมโครงการนอนหงายกับพื้น แล้วผู้นำกระบวนการจะแนะนำให้ผู้เข้าร่วมเคลื่อนความคิดไปยังตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย และลองรับรู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับร่างกายส่วนนั้น เช่น เมื่อเลื่อนความคิดไปยังต้นขาซ้าย ให้ลองดูว่ากำลังรู้สึกที่ขาซ้ายหรือไม่รู้สึกอะไร
อย่างไรก็ตาม ในระยะหลังๆ เริ่มรู้สึกว่า บอดี้สแกนที่พวกเราหลายๆ คนทำกันในเวิร์กช็อป ดูจะมีวัตถุประสงค์เปลี่ยนแปลงไป จนกระทั่งหลายๆ คนบอกว่า "เป็นการนอนหลับหลังมื้อเที่ยง"
จำได้ว่า รู้สึกไม่ค่อยดีนักกับคำว่า "นอนหลับตอนเที่ยง" เข้าใจว่า บอดี้สแกนไม่ใช่การนอนหลับ แม้จะยอมรับว่า "การนอนหลับ" ในช่วงบ่ายไม่ได้เสียหายอะไร เพราะหลายๆ ประเทศในยุโรปก็มีการนอนหลับในช่วงบ่ายหลังมื้อเที่ยงที่เรียกว่า "Siesta" ก่อนที่พวกเขาจะลุกขึ้นมาทำงานกันอย่างกระฉับกระเฉงหลังจากนั้น
แต่ "บอดี้สแกน" ให้ผลดีมากไปกว่า "Siesta" มีงานวิจัยเกี่ยวกับการนอนหลับพบว่า ร่างกายของเราจะต้องใช้เวลาประมาณสามถึงสี่ชั่วโมงในการทำให้เกิดการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อก่อนที่การนอนหลับจะเคลื่อนไปสู่ "การหลับลึก" ซึ่งการผ่อนคลายกล้ามเนื้อแบบที่เกิดขึ้นในการนอนสามสี่ชั่วโมงแรกนั้น สามารถเกิดขึ้นได้ด้วยการทำบอดี้สแกนเพียง 30 นาทีเท่านั้น
ดร.จอห์น คาบัต - ซินน์ ให้ความสำคัญกับเรื่องบอดี้สแกนมาก และเขาถือว่าเป็น "การฝึกหัด" ที่เป็นแกนหลักวิธีหนึ่งเพื่อเข้าถึง MBSR เขาจะแนะนำให้ผู้เข้าร่วม "ไม่หลับ" ไม่ว่าจะง่วงสักเพียงใด เพราะเวลาที่เริ่มผ่อนคลายนั้น หลายๆ คนอาจจะเคลิ้มๆ หลับไปได้ เขายังแนะนำว่าถ้ากำลังรู้สึกว่าจะหลับ ขอให้ลืมตาขึ้นมาด้วยซ้ำ เพราะวัตถุประสงค์หลักของบอดี้สแกนต้องการให้เรา "ตื่นรู้" อยู่กับ "ความผ่อนคลาย" ของกล้ามเนื้อทั่วร่างกายๆ ทีละจุดทีละตำแหน่ง ไม่ได้ต้องการให้หลับ และ "การตื่นรู้กับกล้ามเนื้อแบบนี้" จะให้ความผ่อนคลายที่เบาสบายและให้ผลดีได้มากกว่าการนอนหลับทั่วๆ ไป อย่างน้อยในช่วงที่มีเวลาไม่มากพอที่จะหลับได้ยาวหลายๆ ชั่วโมงเหมือนในช่วงกลางคืน
โดยรวมๆ เวลาที่นำบอดี้สแกนเองมักจะแนะนำไม่ให้หลับ ยกเว้นว่าไม่ไหวจริงๆ และย้ำว่าบอดี้สแกนไม่ใช่การนอนหลับ เพราะถ้าเป็นเช่นนั้น ตอนเที่ยงหลังกินอาหารเสร็จ คงให้ทุกๆ คนแยกย้ายกันไปนอนในห้องพักน่าจะสบายกว่าต้องมานอนรวมกันในห้องประชุมกระมัง
หลังจากได้รู้จักและคลุกคลีอยู่กับบอดี้สแกนมาเป็นเวลาเกือบสิบปี ในช่วงตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสกลับมาอ่านหนังสือ Full Catastrophe Living ของ ดร.จอน คาบัต - ซินน์ ใหม่อีกรอบ และยังได้มีโอกาสสั่งหนังสือเล่มใหม่ๆ ของเขา ทั้งที่เขาเขียนเองและเขียนร่วมกับคนอื่นๆ พบว่า ดร.จอน คาบัต - ซินน์ ยังให้ความสำคัญกับเรื่องพื้นฐานอย่างบอดี้สแกนเหมือนกับที่เคยให้และบันทึกไว้ในหนังสือเล่มแรกๆ ของเขา
ทำให้ได้ทดลองกลับมาฝึกบอดี้สแกนด้วยตัวเองมากขึ้นกว่าเดิม โดยนำมาใช้เป็นกิจวัตรประจำวันเลย ไม่ได้ทำเฉพาะในช่วงที่มีเวิร์กช็อปเท่านั้นเหมือนกับช่วงก่อนๆ พบว่า ได้เรียนรู้อะไรจากบอดี้สแกนเพิ่มขึ้นอีกหลายๆ เรื่อง
หนึ่ง พบว่า บอดี้สแกนช่วยทำให้ผ่อนคลายได้อย่างเต็มที่มากขึ้นกว่าเดิม จากที่เคยนึกว่าตัวเองผ่อนคลายได้เก่งมากแล้ว เมื่อกลับมาฝึกฝนอย่างเป็นประจำก็ยิ่งพบว่า ร่างกายยังมีความตึงเครียดอยู่เยอะมากและยังสามารถผ่อนคลายได้อีกมาก
สอง พบว่า บอดี้สแกนช่วยทำให้กลับมาที่ "ความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้นในร่างกาย" (Body Sensation) ได้ง่ายมากขึ้น และการกลับมา "รับรู้ความรู้สึก" ที่ร่างกายนี้ เป็นปัจจัยสำคัญมากๆ เพราะจะสามารถเป็น "สัญญาณเตือนภัย" ให้กับเราได้ก่อนที่ร่างกายจะตกลงไปสู่ "สภาวะเครียด" ที่รุนแรงกว่าเดิม คือเมื่อรับรู้ว่าส่วนของร่างกายกำลังตึงตัวอยู่นั้น ระบบของร่างกายจะค่อยๆ ปรับสภาพไม่ให้ตกเข้าไปสู่สภาวะเครียดแบบลึกและไม่รู้ตัว
สาม พบว่า บอดี้สแกนช่วยทำให้ "ยอมรับ" กับทุกสถานการณ์ได้ง่ายมากขึ้น เพราะ "บริบท" อย่างหนึ่งในการทำบอดี้สแกนคือ "ต้องปล่อยไป" "ต้องทิ้งไป" ความตึงตัวต่างๆ เราต้องปล่อยไป เป็นการใช้ประโยชน์จากแรงโน้มถ่วงของโลกโดยที่เราไม่ต้องฝืนไม่ต้องต่อสู้
และเมื่อรับรู้กับความรู้สึกตึงตัวที่เกิดขึ้นแล้ว การ "ใส่ใจ" กับร่างกายในบริเวณนั้นจะค่อยๆ ทำให้เกิดการคลายตัวและ "ปล่อย" เมื่อร่างกายสามารถ "ปล่อยสบาย" ได้แล้ว อารมณ์และความคิดจะค่อยๆ ปรับสภาพให้สามารถ "ปล่อยคลาย" ได้ง่ายมากขึ้นตามไปด้วย เพราะมนุษย์ในยุคปัจจุบันจะมีปัญหาในเรื่องของ "ความคิดและอารมณ์ที่สับสน" กันอยู่มาก การฝึก "ปล่อยสบาย" ที่ร่างกายจะช่วยได้มาก
โดยรวมๆ แล้ว พบว่า บอดี้สแกนมีประโยชน์มากกว่าที่เคยคาดคิดไว้ เพราะ "ความเครียด" นั้นเปรียบเสมือน "ภัยร้าย" ที่แอบซ่อนอยู่ในตัวของเรา และคนที่เครียดมักจะไม่รู้ตัวว่าเครียด งานวิจัยจำนวนมากพบว่าการฝึกบอดี้สแกนให้เป็นกิจวัตร จะสามารถช่วยตัดวงจรของความเครียดที่ก่อเกิดและทำร้ายร่างกายของเราได้เป็นอย่างดี
*ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน*
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น