คนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าทำไมจึงเครียด เพราะไม่เคยสังเกตเฝ้าดูใจตัวเองอย่างตรงไปตรงมา บางคนความเครียดจะสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเวลาจนเกิดอาการไม่สบาย เช่น ปวดเมื่อยต้นคอ ศีรษะ หนักหัว มึนงง นอนไม่หลับ เป็นต้น
วิธีจัดการกับความเครียดมี 2 วิธีใหญ่ คือ วิธีทางอ้อม และ วิธีทางตรง วิธีทางอ้อม ได้แก่ การคลายเครียดด้วยวิธีต่างๆ เมื่อเกิดความเครียดขึ้นแล้ว เช่น พักผ่อนหย่อนใจ ดูหนัง ฟังเพลง หัวเราะ ตั้งวงกินเหล้า เป็นต้น ส่วนวิธีทางตรง คือวิธีที่สามารถระงับหรือป้องกันไม่ให้เครียด เช่น การตั้งสติเผชิญกับสิ่งต่างๆ ที่ทำให้เครียด การเจริญสมาธิ เป็นต้น ซึ่งมีถึง 40 วิธี วิธีที่นิยมมากคือ อาณาปานสติ โดยการกำหนดลมหายใจเข้าออกจนจิตสงบตั้งมั่น อิริยาบถใหญ่ทั้ง 4 ของคนเราก็เจริญสมาธิได้ เช่น นั่งสมาธิแบบพุทธหรือแบบชี่กง นอนท่าศพแบบโยคะ ยืนอรหันต์แบบชี่กง หรือ เดินจงกรมแบบพุทธ โดยใช้ใจที่มีสมาธิพิจารณาความเครียด
ตัวอย่างวิธีการนั่งสมาธิอย่างง่าย
1.เวลาที่นั่งสมาธิควรเป็นเวลาที่ไม่หิว ไม่อิ่ม ไม่กลั้นอุจจาระ/ปัสสาวะ นั่งบนเก้าอี้ที่ไม่มีพนักพึงหรือไม่พึงพนักในท่าที่สบาย ยืดตัวตรง มือทั้งสองวางบนหน้าตัก ผ่อนคลายทั้งตัว(ท่าทาง)
2.กำหนดใจให้สนใจแต่เสียงเพลงสวดหรือเพลงบรรเลง หายใจเข้าออกช้าๆ ยาวๆ (วิตก)
3.ถ้าใจคิดถึงเรื่องใดๆ ให้กำหนดใจกลับมาที่เสียงเพลงทุกครั้ง ประคองใจไว้ (วิจาร)
4.ถ้ามีอาการบางอย่างเกิดขึ้นในร่างกาย เช่น ร้อน ชา น้ำมูกน้ำตาไหล เป็นต้น (ปีติ) ให้เฝ้าดูอาการนั้นไปเรื่อย ๆ ใจยังกำหนดอยู่ที่เสียงเพลง จนรู้สึกความสงบสุขในใจ (ปัสสัทธิ สุข)
5.รู้สึกกายผ่อนคลาย ใจโปร่งเบา ปล่อยวางจากความเครียดต่างๆ ถ้าใจสมาธิจิตขณะนั้น มาพิจารณาเหตุปัจจัยในการเกิดโรคหัวใจหลอดเลือดจะทำให้เราเข้าใจความเป็นจริงของการใช้ชีวิตของเราได้อย่างชัดแจ้งขึ้น ปัญหาอุปสรรคต่างๆ มักจะได้คำตอบ (วิปัสสนา) พฤติกรรมสุขภาพก็จะตามมาได้ หมั่นเจริญสมาธิวิปัสสนาเป็นประจำจะมีสุข ห่างไกลจากโรคภัยตลอดไป
*ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน*
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น